Welcome www.herbsdd.blogspot.com

ขอต้อนรับเข้าสู่เวปไซต์ www.herbsdd.blogspot.com เพื่อคนรักสุขภาพและสมุนไพร เพื่อชีวิตที่ดีด้วยวิธีง่ายๆในการใส่ใจสุขภาพที่น่าทะนุถนอมของคุณ

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรไทย:ลิ้นงูเห่า


ลิ้นงูเห่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clinacanthus siamensis Bremek

ชื่อวงศ์ : ACANTHACEAE

รูปลักษณะ : ลิ้นงูเห่า เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 1.5-4 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 7-12 ซม. ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีแดงส้ม โคนกลีบสีเขียว ติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 2 ปาก ผลแห้ง แตกได้

ส่วนที่ใช้เป็นยา  : ใบ ราก

สรรพคุณของ ลิ้นงูเห่า :
ใบ ใช้ตำหรือขยี้ ทาหรือพอก แก้พิษร้อนอักเสบ ปวดฝี
ราก ตำพอกแก้พิษตะขาบและแมงป่อง



ผลงานการวิจัยใบลิ้นงูเห่า

ใบลิ้นงูเห่า” กับฤทธิ์ต้านไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่

 
ลิ้นงูเห่าเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 1.5 - 4 เมตร ลักษณะใบเป็นรูปหอก มีก้านใบยาว ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีแดงส้ม ผลมีลักษณะแห้งและแตก ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด สรรพคุณทางยาของลิ้นงูเห่า ได้แก่ รากสามารถนำไปตำ แล้วพอกใช้สำหรับแก้พิษตะขาบและแมลงป่องต่อย ส่วนใบสามารถใช้แก้พิษร้อนอักเสบและอาการปวดฝี


ผศ.ภญ.ดร.มะลิ วิโรจน์แสงทอง ภาควิชาชีวเคมีและจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษา วิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่และฤทธิ์การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของใบลิ้นงูเห่า กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย เมื่อติดเชื้อแล้วผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง ยารักษาในปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยและมีปัญหาการดื้อยา ส่วนวัคซีนที่ใช้อยู่ก็มีข้อจำกัดคือจะป้องกันเฉพาะ สายพันธุ์ของวัคซีนนั้นๆ หากมีการระบาดของสายพันธุ์อื่นก็จะไม่สามารถป้องกันได้ จึงต้องมีการผลิตวัคซีน ขึ้นใหม่ทุกปีตามสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ทำให้อาจเกิดปัญหาผลิตวัคซีนไม่ทันท่วงทีหรือไม่เพียงพอต่อ ความต้องการได้ และผู้ได้รับวัคซีนบางคนอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวดเมื่อย เป็นไข้ ฯลฯ จากผลการวิจัย ที่ผ่านมา พืชสมุนไพรของไทยหลายชนิดมีฤทธิ์ต้านไวรัสหลากหลายสายพันธุ์ แสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพในการพัฒนาต่อไปได้ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยครั้งนี้เพื่อหาว่าสมุนไพรชนิดใดบ้างที่มีฤทธิ์ต้านไข้หวัดใหญ่ เริ่มจากการนำสมุนไพร 20 ชนิดที่คาดว่าจะมีฤทธิ์ ดังกล่าวมาตรวจคัดกรองด้วยการบ่มสมุนไพรกับเซลล์เพาะเลี้ยงในหลอดทดลองซึ่งให้เชื้อไวรัส 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Type A คือ H1N1 H3N2 และ Type B พบว่าใบลิ้นงูเห่ามีฤทธิ์ต้านไวรัสที่ดี สามารถยับยั้ง H3N2 ได้สูงที่สุดประมาณร้อยละ 42 จึงนำใบลิ้นงูเห่า มาทำการวิจัยเพิ่มเติมในหนูทดลองที่มีเชื้อไวรัส H3N2 แบ่งหนูเป็น 3 กลุ่มเพื่อเปรียบเทียบกัน ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดใบลิ้นงูเห่า 4 ชั่วโมงก่อนให้เชื้อไวรัส วันละครั้ง ใน 5 วันแรกของการติดเชื้อ กลุ่มที่ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ซึ่งมีฤทธิ์ต้านไวรัสร้อยละ 84 และกลุ่มที่ให้น้ำอย่างเดียว โดยมีการตรวจวัดด้วยการชั่งน้ำหนักทุกวัน


ผศ.ภญ.ดร.มะลิ กล่าวถึงผลการวิจัยว่า หนูในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดใบลิ้นงูเห่ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากที่สุดอย่างมีนัยยะสำคัญ และจากการนำน้ำล้างปอดของหนูมาตรวจในวันที่ 19 ของการติดเชื้อก็พบว่ามี Antibody สูงกว่าอีก 2 กลุ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในสัปดาห์แรก กลุ่มที่ให้น้ำและกลุ่มสารสกัดใบลิ้นงูเห่าน้ำหนักลดลง ส่วนกลุ่มโอเซลทามิเวียร์น้ำหนักลดเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อครบ 19 วันของการทดลอง กลุ่มโอเซลทามิเวียร์กลับมีน้ำหนักขึ้นน้อยที่สุดและมี Antibody ไม่สูงมาก ซึ่งอาจเกิดจากการที่ยาเข้าไป ต้านไวรัสจนทำให้ไม่เหลือไวรัสที่จะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้จากการทดสอบความเป็นพิษของใบลิ้นงูเห่า ยังพบว่ามีความ เป็นพิษต่ำมากเมื่อเทียบกับฤทธิ์ในการต้านไวรัส จึงถือว่าสามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย


สำหรับการต่อยอดผลงานวิจัยดังกล่าว ผศ.ภญ.ดร.มะลิ เปิดเผยว่า จะทำการศึกษาวิจัย เพิ่มเติมในเชิงลึกและเชิงกว้าง โดยศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของใบลิ้นงูเห่าด้วยการทดลอง ในเซลล์เพาะเลี้ยง เนื่องจากการทดลองเพิ่มเติมในสัตว์ทดลองนั้นต้องใช้เวลาและทุนวิจัยที่สูง หากเป็นไปได้ก็อยากจะต่อยอดไปสู่การทดลองในมนุษย์ แต่ก็จะมีข้อจำกัดหลายประการ รวมทั้ง จะต้องมีการศึกษาฤทธิ์อื่นๆเพิ่มเติม และต้องทดสอบกับไวรัสหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้การที่ ใบลิ้นงูเห่ามีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันก็อาจจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นสารเสริมฤทธิ์ของวัคซีนได้ แต่ต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าเป็นฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะหรือไม่ สำหรับประชาชนทั่วไปก็สามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ ได้ด้วยตนเอง โดยการรับประทานพืชสมุนไพรที่ตรวจพบว่ามีฤทธิ์ต้านไวรัส เช่น ฟ้าทะลายโจรที่มีฤทธิ์ต้าน H1N1 และไวรัส Type B ประมาณร้อยละ 15 โหระพาที่มีฤทธิ์ต้าน H3N2 ประมาณร้อยละ 24 และต้านType B ประมาณร้อยละ 9 กะเพราที่มีฤทธิ์ต้าน H3N2 ร้อยละ 19 ฯลฯ เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อหวัด

 
จุฬาสัมพันธ์ ปีที่ 52 ฉบับที่ 44 วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2552


Photobucket
Photobucket
Photobucket
Photobucket
Photobucket
Photobucket
Photobucket
Photobucket

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่เคยรู้จักเจ้าต้นนี้มาก่อน..และไม่เคยเห็นเลยครับ ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆ (จริงแล้ว ผมหาข้อมูลเรื่องฝันว่าเครื่องบินตก ไหงมาเจอต้นลิ้นงูเห่าได้ยังไงก็ไม่รู้ ^^)

    ตอบลบ