Welcome www.herbsdd.blogspot.com

ขอต้อนรับเข้าสู่เวปไซต์ www.herbsdd.blogspot.com เพื่อคนรักสุขภาพและสมุนไพร เพื่อชีวิตที่ดีด้วยวิธีง่ายๆในการใส่ใจสุขภาพที่น่าทะนุถนอมของคุณ

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

บุก



ต้นบุก หรือ Konjac ต้นไม้ประเภท Amorphophallus เหมือนกับบุกไทยที่เรานำต้นมาแกงส้ม ลวกจิ้มนำพริก หรือเอาหัวมาฝานเป็นแผ่นไว้นึ่งหรือย่างไฟกินเป็น " ขนมบุก "นั่นเอง


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amorphophallus mulleri Blume
มีชื่อพ้อง 2 ชื่อ : Amorphophallus oncophyllus Prain
: Amorphophallus burmanicus Hook.f.
ในปัจจุบัน บุกเป็นสมุนไพรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และได้รับการส่งเสริมให้มีการปลูกในโครงการภายใต้มูลนิธิหลวง มีผลิตภัณฑ์จากบุกเพื่อลดความอ้วนในชื่อการค้าต่างๆมากมายในท้องตลาด นอกจากสมุนไพรชนิดนี้จะมีคุณสมบัติในการลดความอ้วนแล้ว ยังสามารถลดไขมันในเลือดและในตับ และลดน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
บุก (Amorphophallus spp.) มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงประเทศจีน ญี่ปุ่น และทางใต้ไปถึงประเทศไทย อินโดจีน และฟิลิปปินส์ เป็นพืชที่พบในป่าซึ่งมีการระบายน้ำได้ดีและอุดมสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีหัวอยู่ใต้ดิน โดยปกติจะมีใบเพียงใบเดียวซึ่งมีลักษณะใหญ่มาก ก้านใบยาว ดอกแทงขึ้นมาจากใต้ดิน มีทั้งหมดประมาณ 90 ชนิด
บุกเป็นอาหารสมุนไพรที่รู้จักกันดีในญี่ปุ่น โดยมีชื่อทั่วไปว่า Konjac เป็นพืชที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Amorphophallus konjac C। Koch หรือ A। rivieri Durien ญี่ปุ่นใช้แป้งจากบุกทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยทำเป็นก๋วยเตี๋ยวหรือขนม ซึ่งสามารถลดความอ้วนได้เพราะไม่ให้พลังงานเนื่องจากไม่ถูกย่อย จึงไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แต่จะขับถ่ายออกมาในรูปเดิม เพียงแต่ทำให้อิ่มเท่านั้น และมีความเชื่อว่าแป้งบุกช่วยทำความสะอาดลำไส้ด้วย มีการสั่งซื้อหัวบุกจากประเทศไทยไปทำวิจัยและทำเป็นอาหารสมุนไพรกันมาก
ในประเทศไทยมีบุกอยู่หลายชนิดด้วยกัน นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Francois Gagnepain ได้ทำการศึกษาและพบว่ามีอยู่อย่างน้อย 15 ชนิด เป็นชนิดที่พบใหม่หลายชนิด จึงได้ให้ชื่อทางพฤกษศาสตร์ตามสถานที่พบ เช่น บุกหัวช้าง A. koratensis Gagnep. พบที่โคราช, บุกรอ A. saraburiensis Gagnep. พบที่สระบุรี และบุกก้านโคยงัว A. xiengraiensis Gagnep. พบที่เชียงราย เป็นต้น เท่าที่ได้มีการวิจัยหัวบุกในประเทศไทยจำนวน 7 พันธุ์ คือ บุกคางคก (บุกป่า) A. rex , บุกบ้าน A. campanulatus , บุกด่าง A. kerrii , บุกเขา A. corrugatus , บุก A. oncophyllus , บุกเตียง A. longituberosus และ A. rivieri พบว่ามีเพียง 4 ชนิดที่มีสารสำคัญที่เป็นที่ต้องการทางการค้า คือ กลูโคแมนแนน (glucomannan) ได้แก่
1. บุก (A. oncophyllus Prain ex Hook.f.) เป็นบุกชนิดที่มีหัวเป็นบัลบิล (bulbil) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 ซม. ใบใหญ่ 1 เมตร ก้านใบยาว 90 ซม. หนา 2.5 ซม. ช่อดอกยาว 20 ซม. มีกาบหุ้ม บุกชนิดนี้มีความแตกต่างจากชนิดอื่นตรงที่รูปร่างของหัวมีลักษณะกลม-แบน มีรูตรงกลาง หัวสดมีสีเหลืองอมชมพู และขาวเหลือง นิ่มและฉ่ำน้ำ ก้านใบมีสีต่างๆคือ เขียว เขียวมีจุดขาว เขียวทางขาว และเขียวปนอมชมพู และมี บัลบิลบนใบ พันธุ์นี้มีปริมาณกลูโคแมนแนนสูงมาก พบทางตะวันตกของประเทศ เช่น กาญจนบุรี, กำแพงเพชร, ตาก และภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่และพะเยา
2. บุกด่าง (A. kerrii N.E. Br.) ก้านใบสีเขียวเข้มมีจุดขาว ยาว 1 เมตร ใบเป็นแฉกยาว 15 - 22 ซม. กว้าง 5 - 7 ซม. ช่อดอกยาว 15 - 30 ซม. กว้าง 7 - 11 ซม. บุกด่างจะต่างกับบุกชนิดอื่นที่รูปร่างของหัวซึ่งกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9.5 - 15 ซม. มีผิวขรุขระสีน้ำตาล เนื้อหัวสดมีสีเหลือง เหลืองสดหรือขาว พบแถบน่าน เชียงใหม่ เลย และกาญจนบุรี หรือที่มีระดับความสูง 1,200 - 1,500 ม. เหนือระดับน้ำทะเล พบมีกลูโคแมนแนน แต่น้อยกว่าในบุก (A.oncophyllus)
3. บุกเขา (A. corrugatus N.E. Br.) เป็นบุกที่ต่างจากพันธุ์อื่นตรงที่มีใบแยกเป็นหลายส่วน โดยมากมี 7 ส่วน สีน้ำเงินอมเขียว ขอบใบสีชมพู กาบหุ้มช่อดอกเป็นรูปกระดิ่งยาว 7 - 17 ซม. กว้าง 3 - 7 ซม. เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีกลูโคแมนแนน
4. บุก (A. rivieri Durien) เป็นบุกพันธุ์เดียวกับที่ใช้ในญี่ปุ่น


สารสำคัญ
มีการศึกษาและค้นพบสารสำคัญในพืชสกุลบุก คือ กลูโคแมนแนน ตั้งแต่ปี ค।ศ. 1930 กลูโคแมนแนนเป็นสารประกอบคาร์โบไฮเดรต ซึ่งประกอบด้วยกลูโคส แมนโนส และฟรุคโตส มีผู้พบว่าอัตราส่วนของแมนแนน : กลูโคส = 2 : 1 มีการเชื่อมต่อของน้ำตาลเป็น b-D type เมื่อทดลองย่อยกลูโคแมนแนนด้วยเอ็นซัยม์ cellulase จะได้ กลูโคส-แมนโนส (1 : 1.6) เซลโลไบโอส อิพิเซลโลไบโอส และอิพิเซลโลไบโอซีลแมนโนส และถ้าทดลองย่อยด้วยเอ็นซัยม์ b-mannase จะได้ไดแซคคาไรด์ 13 ชนิด และโอลิโกแซคคาไรด์ นอกจากนี้ยังมีการพบเอ็นซัมย์ b-mannase I และ II จากบุกด้วย

ประโยชน์ของกลูโคแมนแนน
กลูโคแมนแนนจากบุกมีพลังงานต่ำ จึงใช้เป็นอาหารของผู้ต้องการลดความอ้วน และยังมีประโยชน์ในการช่วยบำบัดรักษา และบรรเทาอาการของโรคบางชนิดด้วย เช่น โรคไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง และไขข้ออักเสบ เป็นต้น นอกจากประโยชน์ทางด้านอาหารและยาแล้ว กลูโคแมนแนนจากบุกยังถูกนำไปใช้ผลิตโลชั่นบำรุงผิว และยาเม็ดชนิด sustained release ด้วย
ผลการทดลองทางเภสัชวิทยา
ทดลองให้หนูขาวกินอาหารผสมผงบุก 5 % พบว่ามีผลทำให้ปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดและตับลดลง และเมื่อทดลองในหนูขาวที่กินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง ก็พบว่ามีผลลดปริมาณ โคเลสเตอรอลในเลือดและตับเช่นกัน
ทดลองให้หนูขาวและลิงบาบูนกินอาหารซึ่งผสมกลูโคแมนแนนเจล 5 % พบว่าโคเลศเตอ รอลในเลือดลดลงโดย HDL (high density lipoprotein) ไม่ลด และโคเลสเตอรอลในตับ รวมถึงปริมาณไขมันทั้งหมดก็ลดลงด้วย
จากการทดลองทางคลินิกทั้งในคนปกติและคนไข้โรคเบาหวาน เมื่อให้รับประทานกลูโคแมนแนนจากบุก พบว่าปริมาณน้ำตาลและอินซูลินในเลือดลดลง การที่กลูโคแมนแนนสามารถลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากความเหนียวของกลูโคแมนแนนไปยับยั้งการดูดซึมกลูโคสจากทางเดินอาหาร และยิ่งมีความหนืดมาก ก็ยิ่งมีผลการดูดซึมกลูโคสมากขึ้น
จากผลการทดลองพบว่ากลูโคแมนแนนมีผลทำให้การดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินอี ลดลง แต่ไม่มีผลต่อการดูดซึมวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ เช่น วิตามินบีสิบสอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น